Archives สิงหาคม 2017

สุดเจ๋ง!! นศ. คว้ารางวัลชนะเลิศตอบปัญหากฎหมาย

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาทางกฎหมาย เนื่องในวันรพี ประจำปี 2560 เข้ารอบเป็นตัวแทนจังหวัดเพื่อแข่งขันระดับภูมิภาค ณ ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดขอนแก่น

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 เวลา 13.00 น. ตัวแทนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมแข่งขันตอบปัญหาทางกฎหมาย เนื่องในวันรพี ประจำปีการศึกษา 2560 เพื่อคัดเลือกตัวแทนจังหวัดในการเข้าแข่งขันในระดับภูมิภาคโดยคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งตัวแทน 2 ทีม ผลปรากฎว่าทีมที่ 1 ประกอบด้วย นายภาคภูมิ ภูพันนา นางสาวสุดารัตน์ พรมพุฒ และนายภูบดินทร์ วรชินา นักศึกษาชั้นปี 4 ได้รับรางวัลชนะเลิศในการเข้าแข่งขันในครั้งนี้ ในส่วนทีมที่ 2 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประกอบด้วย นายเจนจบทิศ จารึกกลาง นักศึกษาชั้นปี4 นายชูชนะ จันทร์นวล นักศึกษาชั้นปี 3 และนางสาวขวัญสุดา ยืนชีวิต นักศึกษาชั้นปี 3 และได้เป็นตัวแทนจังหวัดทั้งสองทีมเพื่อเข้าแข่งขันในรอบภูมิภาค (ภาค4) ที่จะจัดการแข่งขันขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2560 นี้

การเข้าแข่งขันดังกล่าวนักศึกษาได้รับการฝึกฝนและดูแลจากอาจารย์ผู้ควบคุมทีมได้แก่ อาจารย์สุชาติ แนวประเสริฐ อาจารย์พิทักษ์ ไทยเจริญ อาจารย์อัษฎาวุธ วสนาท อาจารย์บุษกร ปราบ ณ ศักดิ์ อาจารย์ณัฐวรรณ อารัมภ์วิโรจน์ และอาจารย์จินตนา อุณหไวทยะ ที่ให้ความช่วยเหลือและให้ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมในการเข้าแข่งขันดังกล่าว ด้านนางสาวสุดารัตน์ พรมพุฒ หนึ่งในตัวแทนนักศึกษาได้กล่าวความรู้สึกในครั้งนี้ว่า “รู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ได้รับรางวัลถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เราพัฒนาความรู้ในด้านกฎหมายและสามารถนำมาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาได้ การแข่งขันครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีมากค่ะ ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ช่วยดูแลและให้คำแนะนำเป็นอย่างดี ในการแข่งขันรอบต่อไปก็จะฝึกฝนและทำให้เต็มที่เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นต่อไป”

1664 1665 1666 1667 20643103_1623002417767360_7653472994536192619_oS__8921102S__8921101

ภาพ : อาจารย์จินตนา อุณหไวทยะ

ข่าว : พชร โนนทิง

 

ปฐมนิเทศนักกฎหมายรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษา 2560

ปฐมนิเทศนักกฎหมายรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษ 2560 พร้อมรับโอวาทและบรรยายพิเศษจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น “องค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญต่อการศึกษากฎหมายในปัจจุบัน” และปาฐกถาพิเศษจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “บทบาทของนักศึกษานิติศาสตร์กับความรับผิดชอบต่อสังคม” เตรียมพร้อมความเข้าใจในบทบาทของการเรียนกฎหมายสู่การเป็นบัณฑิตที่มีนิติทัศนะรับใช้สังคม ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และศาลจังหวัดขอนแก่น

วันที่ 5 สิงหาคม 2560 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา 2560 โดยแบ่งการจัดกิจกรรมดังนี้ ช่วงที่ 1 นักศึกษาใหม่ลงทะเบียนพร้อมรับฟังคำแนะนำข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับคณะ ณ ห้องบรรยาย จากคณาจารย์ประจำคณะ หลังจากนั้นนักศึกษาใหม่ไหว้พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปประจำคณะนิติศาสตร์ เพื่อเป็นศิริมลคล โดยมีคณะผู้บริหารนำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ นำนักศึกษาไหว้พระพุทธรูปประจำคณะ พร้อมรับฟังโอวาท ข้อคิดจาก อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เพื่อความเป็นศิริมงคลและแนวทางปฏิบัติในการเป็นนักกฎหมายที่มีหัวใจยุติธรรม

ต่อมาในช่วงที่ 2 นักศึกษาใหม่เดินทางไปยังหอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น โดยนายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีกับนักศึกษาใหม่ทุกคนที่ได้รับโอกาสในการเข้าศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากนั้นได้รับฟังโอวาทและการบรรยายพิเศษ เรื่อง “องค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญต่อการศึกษากฎหมายในปัจจุบัน” จากรองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการศึกษากฎหมายของนักศึกษา ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “วิชาชีพนักกฎหมายเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม ในการเข้ามาศึกษาด้านกฎหมายถือเป็นต้นน้ำของการผลิตนักกฎหมายเพื่อรับใช้สังคม คุณลักษณะของนักกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องคำนึง ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างความยุติธรรมในสังคมได้ นอกจากการเรียนในทฤษฎีแล้วการลงพื้นที่เพื่อนำเอาความรู้ไปช่วยเหลือชาวบ้านจะเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์อยากให้นักศึกษาลงพื้นที่ทำกิจกรรมแบบนี้ให้มากเพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง” และได้รับฟังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของนักศึกษานิติศาสตร์กับความรับผิดชอบต่อสังคม” โดย ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้ให้ข้อแนะนำในบทบาทของการเป็นนักนิติศาสตร์ที่ต้องรู้ถึงหลักการใช้กฎหมายโดยการอ้างอิง (Authority) และมีความน่าเชื่อถือเพื่อให้เกิดความยุติธรรมและรับผิดชอบต่อสังคมอันได้แก่ 1. กฎหมายลายลักษณ์อักษร ตลอดจนเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้น  2.บรรทัดฐานแห่งคำวินิจฉัยทางกฎหมาย ซึ่งเป็นศาลสูงสุดในแต่ละศาล เช่น คำพิพากษาศาลฎีกา คำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีความผูกพันธ์ในทุกองค์กร 3.คำวินิจฉัยชี้ขาด ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล 4.ความเห็นทางวิชาการ อันเป็นคำสอนทางกฎหมายที่มีคุณภาพ 5.หลักพื้นฐานของระบบกฎหมาย อันเป็นหลักทั่วไป เช่น หลักยุติธรรม หลักสุจริต หลักประโยชน์สาธารณะ หลักความพอเหมาะพอควรหรือหลักความได้สัดส่วน และหลักนิติธรรม เป็นต้น

และในกิจกรรมช่วงที่ 3 คณะผู้บริหาร คณาจารย์ ได้นำนักศึกษาสักการะพระบรมรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักนิติศาสตร์ และทรงวางระบบแบบแผนศาลยุติธรรม รวมถึงทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอันเป็นประโยชน์ใหญ่ ยิ่งแก่ประเทศชาติ ณ บริเวณหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และได้เป็นแบบอย่างให้นักกฎหมายรุ่นใหม่ต่อไป

DSC_1664 DSC_1707 DSC_1726 DSC_1731 DSC_1732 DSC_1735 DSC_1765 DSC_1769 DSC_1787 DSC_1795 DSC_1804 DSC_1811 DSC_1813 DSC_1821 DSC_1823 DSC_1837 DSC_1862 DSC_1880 DSC_1889 DSC_1893 DSC_1895 DSC_1896 DSC_1897 DSC_1907 DSC_1928 DSC_1945 DSC_1957 DSC_1971 DSC_1979 DSC_1993 DSC_1996 DSC_2005 DSC_2013 DSC_2045 DSC_2051 DSC_2062 DSC_2104 DSC_2108 DSC_2132 DSC_2135 DSC_2158 DSC_2166 DSC_2167 DSC_2181 DSC_2182 DSC_2190 DSC_2194 DSC_2203

ภาพ/ข่าว : พชร โนนทิง

วันที่ ๗ สิงหาคม วันรพี

“วันรพี”ตรงกับวันที่ ๗ สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักนิติศาสตร์ และทรงวางระบบแบบแผนศาลยุติธรรม รวมถึงทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอันเป็นประโยชน์ใหญ่ ยิ่งแก่ประเทศชาติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนชาวไทยทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักกฎหมายไทย 

  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๔ ในสมเด็จพระปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ประสูติ ณ วันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ ตรงกับวาระทางสุริยคติ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗ พระองค์ทรงเป็นต้นราชสกุล รพีพัฒน
เมื่อพระชนมายุได้พอสมควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์สมเด็จพระบรมชนก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเข้าศึกษาภาษาไทยเป็นครั้งแรกในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อได้ทรงผ่านการศึกษาภาษาไทยเป็นเบื้องต้นแล้วได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเข้าศึกษาภาษาอังกฤษชั้นต้นในสำนักครูรามสามิ และในพุทธศักราช ๒๔๒๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเข้าศึกษาภาษาไทยอยู่ในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เปรียญ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๒๗ ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยมีพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นครูสอน พระองค์ทรงมีความรู้แตกฉานในการเล่าเรียนเป็นที่พอใจของพระยายมราชครูผู้สอนเป็นอย่างยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงส่งพระราชโอรสทุกพระองค์ไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแผ่อำนาจแสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ

เหตุที่พระองค์ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย ก็เนื่องจากช่วงเวลานั้น เมืองไทยมีศาลกงสุลฝรั่ง ชาวยุโรปและอเมริกามีอำนาจในประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งยากแก่การปกครอง จึงมีพระทัยตั้งมั่นที่จะพยายามขอยกเลิกอำนาจศาลกงสุลต่างๆ ที่มาตั้งพิจารณาพิพากษาคดีชนชาติของตนเสีย เพื่อที่ประเทศไทยของเรามีเอกราชทางการศาลอย่างแท้จริง

พระองค์ท่านจึงทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย เพื่อจะได้กลับมาพัฒนากฎหมายบ้านเมืองกับพัฒนาผู้พิพากษาและราชการศาลยุติธรรมให้ดีขึ้นและที่สำคัญเพื่อให้ต่างชาติยอมรับนับถือกฎหมายไทย และยอมอยู่ภายใต้อำนาจศาลไทย

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงมีพระสติปัญญาฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง ในต้นปี ๒๔๓๔ พระองค์ทรงสามารถสอบผ่านเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่วิทยาลัยไครส์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Christchurch College Oxford University) ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชันษาเพียง ๑๗ พรรษา

ซึ่งทีแรกมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับเข้าศึกษา โดยอ้างว่าพระชนมายุยังไม่ถึง ๑๘ พรรษา ตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย พระองค์จึงต้องเสด็จไปขอความกรุณาโดยพระองค์ทรงดำรัสว่า “คนไทยเกิดง่ายตายเร็ว” ทางมหาวิทยาลัยจึงยอมผ่อนผันโดยให้ทรงสอบไล่อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ก็ทรงสอบได้อีก

 และด้วยความที่พระองค์ท่านทรงพระวิริยะอุตสาหะเอาพระทัยใส่ในการเรียนเป็นอย่างมาก ทรงสอบไล่ผ่านทุกวิชาและได้รับปริญญาเกียรตินิยมทางกฎหมาย Bachelor of Arts.Hons (B.A. (Oxon)) เมื่อทรงพระชันษา ๒๐ พรรษา โดยใช้เวลาศึกษาเพียง ๓ ปี

ด้วยพระปรีชาญาณดังกล่าวเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ถึงกับทรงเรียกพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ว่า “เฉลียวฉลาดรพี”

หลังจากสำเร็จการศึกษาดังกล่าวแล้ว พระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยว่า จะทรงเรียนเนติบัณฑิตอังกฤษ (Barrister at law) ที่กรุงลอนดอน แล้วจะเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับมารับราชการที่ประเทศไทยเสียก่อน

ปี ๒๔๓๗ เมื่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เสด็จกลับมา พระองค์ก็ทรงเป็นอธิบดีผู้จัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเพื่อสอนความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้เข้ารับราชการพลเรือนในกระทรวงต่างๆ และต่อมาพระองค์ทรงสมัครรับราชการทางฝ่ายตุลาการ แล้วทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ และทรงศึกษากฎหมายไทยอย่างจริงจัง

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหะไม่นาน พระองค์สามารถทำงานในกรมราชเลขานุการได้ทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะการร่างพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เป็นองคมนตรีในปีเดียวกันนั้น

ปี ๒๔๓๙ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เป็นสภานายกพิเศษจัดการตั้งศาลในมณฑลอยุธยา พระองค์ทรงทำการในหน้าที่ด้วยพระปรีชาสามารถ เป็นที่นิยมยินดีของหมู่ชนในมณฑลนั้น

ปี ๒๔๔๐ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เป็นประธานพร้อมด้วยกรรมการไทยและฝรั่ง ช่วยกันตรวจชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการเก่าใหม่และปรึกษาลักษณะการที่จะจัดระเบียบแล้วเรียบเรียงกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และในปีเดียวกันนั้นก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และคงอยู่ในตำแหน่งสภานายกพิเศษจัดการศาลตามเดิมด้วย

ในการปรับปรุงกฎหมาย เบื้องต้นมีการนำกฎหมายอังกฤษมาใช้ โดยใช้กฎหมายวิธีสบัญญัติก่อน ทีแรกมีข้อถกเถียงกันว่าจะใช้ระบบกฎหมายแบบอังกฤษ หรือจะใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ แบบประเทศยุโรปแล้ว

รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงตัดสินพระทัยปฏิรูประบบกฎหมายไทยให้เป็นไปตามแบบประเทศภาคพื้นยุโรป คือ ใช้ระบบ “ประมวลธรรม” แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังนำแนวคิดหลักกฎหมายอังกฤษบางเรื่องมาใช้ด้วย

ประมวลกฎหมายของไทยฉบับแรก คือ ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ใช้เวลาร่างทั้งสิ้น 11 ปี โดยสำเร็จลงในปี ๒๔๕๑ พระองค์เจ้ารพีฯ ท่านทรงช่วยแปลต้นร่างที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษมาเป็นภาษาไทย ส่วนประมวลกฎหมายฉบับต่อๆมา ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพต่างๆ พระองค์ท่านก็ทรงมีบทบาทสำคัญในการยกร่างด้วย 

ในปีเดียวกันนี้ พระองค์เจ้ารพีฯ มีพระดำริว่า “การที่จะยังราชการศาลยุติธรรมให้เป็นไปด้วยดีนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีผู้รู้กฎหมายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยการเปิดให้มีการสอนกฎหมายขึ้นเป็นที่แพร่หลาย” จึงทรงสถาปนาโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้น สังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนทั้งหลายมีโอกาสรับการศึกษากฎหมาย และพระองค์ทรงแนะนำสั่งสอนด้วยพระองค์เองด้วย

และแล้วปลายปี ๒๔๔๐ พระองค์ทรงเปิดให้มีการสอบไล่เนติบัณฑิต โดยใช้ศาลาการเปรียญใหญ่ วัดมหาธาตุเป็นสถานที่สอบ ใช้เวลาสอบทั้งสิ้น ๖ วัน วันละ ๔ ชั่วโมง ให้คะแนนเป็นเกรด ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกมีทั้งสิ้น ๙ คน ผู้สอบได้ลำดับที่ ๑ ในครั้งนั้น คือ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเนติบัณฑิตไทยคนแรก

ปี ๒๔๔๑ พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาในคณะกรรมการ มีชื่อว่า “ศาลกรรมการฎีกา” ทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศ แต่ไม่สังกัดกระทรวงยุติธรรม และต่อมาได้กลายมาเป็นศาลฎีกาในปัจจุบัน

ปี ๒๔๔๒ ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัตรเป็น “กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์” 

ปี ๒๔๔๓ ทรงดำริจัดตั้งกองพิมพ์ลายมือขึ้น ทรงสอนวิธีตรวจเส้นลายมือ และวิธีเก็บพิมพ์ลายมือ สำหรับตรวจพิมพ์ผู้ต้องหาในคดีอาญา เพื่อใช้เป็นหลักฐานเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดหลายครั้ง

ปี ๒๔๕๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี

ปี ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ และในปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวง มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์คชนาม” 

ปี ๒๔๖๒ พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงประชวรด้วยพระวัณโรค ที่พระวักกะ (ไต) และได้ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาพักราชการรักษาพระองค์ และได้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แพทย์ได้จัดการรักษาและถวายพระโอสถ อย่างเต็มความสามารถ แต่พระอาการหาทุเลาลงไม่

จนกระทั่งวันเสาร์ที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๖๓ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ก็สิ้นพระชนม์ สิริพระชนมายุ ๔๗ พรรษา

ในสมัยพระองค์ การปฏิรูปงานศาล เป็นสิ่งจำเป็นต่อสยามประเทศเป็นอย่างมาก มูลเหตุเนื่องจากศาลในตอนนั้นกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ อันส่งผลให้การพิจารณาอรรถคดีเป็นไปด้วยความล่าช้ามาก อำนาจตุลาการขาดอิสระถูกแทรกแซงโดยอำนาจบริหาร รวมทั้งมีการทุจริตเนื่องจากขาดระบบตรวจสอบ การตัดสินคดี ตลอดจนเกิดวิกฤตการณ์เรื่องเอกราชทางการศาล ที่ต่างชาติไม่ยอมขึ้นศาลไทย แต่กลับตั้งศาลกงสุลพิจารณาตัดสินคดีคนในชาติของตนเอง

ดังนั้น เพื่อทำให้การยุติธรรมสามารถทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ พระองค์จึงทรงพัฒนาระบบงานยุติธรรมทั้งระบบ และมีการจัดทำประมวลกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวมาแล้ว เพื่อให้ศาลสามารถตัดสินคดีได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและมีฝ่ายธุรการคอยให้ความสะดวก

และทรงได้วางนโยบายให้ศาลสามารถตัดสินคดีโดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับอารยประเทศ

ในเรื่องนี้ ทรงเคยรับสั่งไว้ว่า “อำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่ใต้อุ้งมือฝ่ายธุรการนั้นใช้ไม่ได้ มีแต่จะเกิดภัยขึ้นเสมอ ดังที่รัฐบาลเองก็ได้ประกาศแสดงความอันนั้นหลายครั้ง…” 

ซึ่งการที่ศาลสามารถตัดสินคดีความได้อย่างอิสระนั้น ถือได้ว่าเป็นหลักประกันความยุติธรรมในศาลอันเป็นที่พึ่งของประชาชน และนำไปสู่การยอมรับของประเทศอื่นๆ ความประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ กว่าจะแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรมฝ่ายบริหารได้ ก็ต้องใช้เวลาประมาณ ๑๐๐ ปีเลยทีเดียว ซึ่งศาลเพิ่งแยกเป็นอิสระจากกระทรวงยุติธรรมเมื่อประมาณปี ๒๕๔๓ นี้เอง

พระองค์เจ้ารพีฯ ทรงเอาพระทัยใส่คุณสมบัติของบุคคลผู้ที่จะมาเป็นผู้พิพากษาเป็นพิเศษ พระองค์ทรงยึดมั่นว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอุดมคติสำคัญยิ่งกว่ากิจส่วนตัวใดๆ

พระองค์เจ้ารพีฯท่านก็ได้ทรงตักเตือนผู้พิพากษาเสมอมาว่า “อย่ากินสินบน”

นอกจากนี้ พระองค์เจ้ารพีฯทรงขอพระราชทานพระมหากรุณาเรื่องเงินเดือนผู้พิพากษาให้เหมาะสมกับศักดิ์และหน้าที่ การที่จะให้ผู้พิพากษาคงความดีเอาไว้นั้น ต้องระลึกถึงเงินเดือนที่จะให้แก่ผู้พิพากษาด้วยเพราะกว่าจะเป็นผู้พิพากษาได้นั้น ต้องใช้เวลาศึกษานานเป็นพิเศษกว่าจะสำเร็จ ตำแหน่งที่จะเลื่อนขึ้นก็มีน้อย และอีกข้อหนึ่งในราชการอย่างอื่น ตามภาษาไพร่เรียกว่า “มีกำลังในราชการ” แต่ฝ่ายตุลาการไม่มีเลย

  สมัยพระองค์เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์ทรงทุ่มเทให้กับงานราชการอย่างเต็มความสามารถ มิได้ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย พระยามานวราชเสวีจึงทูลว่า “ไม่เคยเห็นใครทำงานมากอย่างใต่ฝ่าพระบาท ใต้ฝ่าพระบาทมีพระประสงค์อย่างไร” ทรงตอบว่า “รู้ไหมว่า My life is service” ซึ่งหมายความว่า ชีวิตของฉันเกิดมา เพื่อรับใช้ประเทศชาติ 

ด้วยคุณาณุปการอันล้นพ้นดังกล่าวข้างต้น เนติบัณฑิตยสภาจึงได้ถวายการยกย่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็น“พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” เมื่อปี ๒๔๙๗ ทั้งเริ่มต้นเรียก วันที่ ๗ สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันรพี” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ พร้อมทั้งมีการจัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเป็นประจำทุกปี

ที่มา : ศาลยุติธรรม

แจ้งกำหนดการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ (ภาคบัณฑิต) ปีการศึกษา ๒๕๖๐

แจ้งกำหนดการปฐมนิเทศ (ภาคบัณฑิต)

ก ำหนดการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ (ภาคบัณฑิต)
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันศุกร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ ประดิษฐ์ 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
>> กำหนดการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่-ภาคบัณฑิต ปีการศึกษา 2560

แจ้งกำหนดการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา ๒๕๖๐

แจ้งกำหนดการปฐมนิเทศ

กำหนดการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา ๒๕๖๐
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันเสาร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๑.๓๐ – ๑๘.๓๐ น.
ณ คณะนิติศาสตร์ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และศำลจังหวัดขอนแก่น
>> กำหนดการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่-ปีการศึกษา-๒๕๖๐

                                                                             >> กลุ่ม-1 ห้องบรรยาย 1

                                                                             >> กลุ่ม-2 ห้องบรรยาย 2

                                                                             >> กลุ่ม-3 ห้องบรรยาย 3

ประกาศกลุ่มเรียนวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข ประจำภาคต้น ปีการศึกษา 2560

000147

รายชื่อนักศึกษาวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข กลุ่ม 5

รายชื่อนักศึกษาวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข กลุ่ม 6

รายชื่อนักศึกษาวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข กลุ่ม 7

รายชื่อนักศึกษาวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข กลุ่ม 8

รายชื่อนักศึกษาวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข กลุ่ม 9

รายชื่อนักศึกษาวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข กลุ่ม 10

รายชื่อนักศึกษาวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข กลุ่ม 11

รายชื่อนักศึกษาวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข กลุ่ม 12

รายชื่อนักศึกษาวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข กลุ่ม 13

รายชื่อนักศึกษาวิชา 000147 ศาสตร์ของความสุข กลุ่ม 14