นักกฎหมายคลื่นลูกใหม่ต้องเข้าใจ “สิทธิ หน้าที่และความเสมอภาค”

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมสรุปการลงพื้นที่เรียนรู้สังคมรายวิชาการกฎหมายกับสังคม พร้อมมอบธงรุ่นต้อนรับนักศึกษากฎหมายคลื่นลูกใหม่ต้องเข้าใจสิทธิ หน้าที่ และความเสมอภาค

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 เวลา 17.00 น. คณะนิติศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมสรุปการลงพื้นที่เรียนรู้สังคมตามโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษากฎหมายชั้นปี 1 ปีการศึกษา 2560 และพิธีมอบธงรุ่นที่ 14 โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นประธานในพิธี ภายในพิธีได้มีการบายศรีสู่ขวัญ และการผูกข้อมือต้อนรับนักศึกษาใหม่  คณาจารย์และรุ่นพี่นักศึกษาเข้าร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติบดี ใยพูล ได้กล่าวต้อนรับนักศึกษา ความว่า “ขอต้อนรับนักศึกษารุ่นที่ 14 ของคณะนิติศาสตร์ ในรุ่นที่ 14 นี้นะครับมีอะไรใหม่ๆ ที่ต้องฟันฝ่าท้าท้าย นอกจากการที่เรามาเป็นนักศึกษาใหม่ และใช้หลักสูตรใหม่ปี 2560 และหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตยังได้รับเกียรติเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ต้องปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์ เราจะก้าวเข้าสู่ประเทศไทยยุค 4.0 สิ่งที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าได้คือการปฏิรูปกฎหมายและที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูปคนในระบบกฎหมายหรือนักกฎหมาย สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.จะทำอย่างไรให้เราจบออกไปในอนาคตเป็นนักกฎหมายที่มีทักษะทางวิชาการอย่างแหลมคม รู้กฎหมายอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่รู้เฉพาะความจำ ต้องรู้ในเชิงของการวิเคราะห์ให้ได้ 2.นิติทัศนะของนักกฎหมาย ต้องฝึกนักกฎหมายให้รู้จักที่จะให้ โดยในรายวิชากฎหมายกับสังคมนี้ต้องการให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องของ สิทธิ หน้าที่ และความเสมอภาค เวลาพูดถึงกฎหมายในฐานะที่เราเป็นนักกฎหมาย 3 คำนี้จะประกอบอยู่ในคำว่ากฎหมายอัตโนมัติ โดยให้เรียนรู้ผ่านการลงพื้นที่และการทำกิจกรรม กฎหมายแท้ที่จริงมันไม่ใช่แค่ตัวบท กฎหมายมันคือความจริงของสังคม ที่นักศึกษาได้ไปเรียนรู้สังคม ได้เห็นสังคมที่มีความสุข และเราในฐานะนักกฎหมายจะสร้างความสุขให้กับสังคมได้ ถ้าเราไปพิทักษ์สิทธิของเขาในอนาคต เรามีหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิ วิชากฎหมายกับสังคมนี้ได้สอนว่านักนิติศาสตร์ต่อไปเราต้องมีนิติทัศนะรับใช้สังคม มีนิติทัศนะที่จะให้ทุกคนทุกภาคส่วนมีความสุข  3.ทักษะของคนรุ่นใหม่ เราจะสามารถนำเอาสิ่งที่มีศักยภาพในตัวของเราออกมาในการเรียนนิติศาสตร์ของเราได้อย่างไร เช่น ด้านภาษา การเป็นผู้นำ การกล้าแสดงออก การนำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ โดยนำเอาสิ่งมาเหล่ามาเชื่อมเข้ากับสังคมให้ได้ด้วย”

ในส่วนของอาจารย์พิทักษ์ ไทยเจริญ อาจารย์ผู้สอนประจำวิชานี้ได้กล่าวว่า “วิชากฎหมายกับสังคมเป็น การจัดการเรียนการสอนแบบ Interactive Learning ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการสื่อสารระหว่างกันและมีการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนักศึกษา และระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง โดยถือเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควรว่า จะทำอย่างไรให้นักศึกษาของเราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายกับสังคมให้ได้ ดังนั้น เราจึงเริ่มต้นจากการสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ตนเอง ตามมาด้วยเรียนรู้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันและการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียนผ่านกิจกรรมตามโจทย์ที่อาจารย์ผู้สอนได้กำหนดขึ้น นอกจากนั้น เรายังพานักศึกษาก้าวข้ามไปเรียนรู้สังคมอื่น ๆ นอกมหาวิทยาลัย และนี่เองคือที่มาว่าทำไมนักศึกษาจึงต้องออกไปเรียนรู้ใน 6 พื้นที่ที่แตกต่างกัน เพราะเราเชื่อว่า เมื่อนักศึกษาได้เจอกับสภาพความเป็นจริง และวิถีชีวิตจริง ก็จะทำให้นักศึกษานั้นเกิดการเรียนรู้ และเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายกับสังคมได้เองในตัว และที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อปลูกฝังให้นักศึกษาเราเติบโตไปเป็นบัณฑิตที่มีนิติทัศนะรับใช้สังคมต่อไป”

และ นางสาวศิริลักษณ์ ไกรพินิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้กล่าวความรู้สึกสำหรับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชานี้ว่า “เป็นการจัดการเรียนการสอนที่สนุก ไม่น่าเบื่อ ให้นักศึกษาได้คิดและแสดงออกทางความคิดได้อย่างเต็มที่ และมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสามัคคีระหว่างเพื่อน รวมถึงการลงพื้นที่ไปเรียนรู้สังคมภายนอก ในส่วนของหนูได้มีโอกาสไปที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุ้มศุขโข อ.ชนบท จ.ขอนแก่นรู้สึกชื่นชมในภูมิปัญญาของชุนชนที่นี่ที่ได้มีการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาของตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เด็ก เยาวชนในหมู่บ้านก็มีความภาคภูมิใจ รักและห่วงแหน และจะสืบทอดทั้งด้านการทำผ้าไหม การรำบายศรี ได้ทราบประวัติความเป็นมาของสิ่งเหล่านี้และก่อให้เกิดความเข้าใจมากกว่าการอ่านหนังสือในห้องอีกด้วยค่ะ”

โดยการจัดการศึกษาในรายวิชานี้รายวิชาดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เช่น ทักษะการเตรียมความพร้อมในการศึกษากฎหมายและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนิติทัศนะรับใช้สังคมพร้อมทั้งส่งเสริมให้นักศึกษามีคุณธรรมและจริยธรรม อีกทั้งยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้กฎหมายกับสังคม ตลอดจนมีการพัฒนาทักษะทางด้านวิชาการควบคู่กันไปอีกด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับทักษะการเตรียมความพร้อมในการศึกษากฎหมายและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนิติทัศนะรับใช้สังคมนั้น ในรายวิชาได้กำหนดให้มีกิจกรรมพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษากฎหมาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ตนเอง เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสังคมในชั้นเรียน และก้าวข้ามไปสู่การเรียนรู้สังคมอื่น ๆ ภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการศึกษากฎหมายต่อไป

DSC_5623 DSC_5642 DSC_5644 DSC_5645 DSC_5650 DSC_5651 DSC_5696 DSC_5703 DSC_5714 DSC_5725 DSC_5732 DSC_5752 DSC_5757 DSC_5758 DSC_5762 DSC_5767 DSC_5768 DSC_5770 DSC_5775 DSC_5787

ภาพ/ข่าว : พชร โนนทิง