อบรมเชิงปฏิบัติการความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญกับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 14 – 15 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในเรื่องของสิทธิชุมชน สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารทางราชการ และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 รวมถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 พร้อมทั้งเสริมสร้างทักษะการเจรจาต่อรอง โดยมีแกนนำกลุ่มฮักแม่น้ำเลย เข้าร่วมฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน “กลุ่มฮักแม่น้ำเลย” มีการฝึกทักษะการเจรจาต่อรอง การจัดองค์กรชุมชน การทำงานเป็นทีมและการวางแผนงาน เป็นต้น อันจะทำให้ประชาชนลุ่มน้ำเลยเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ วัดโพธิ์ศรีหายโศก บ้านกลาง ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งมีอาจารย์ปริศนา คำชาย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา อาจารย์กัญญารัตน์ โคตรภูเขียว อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และอาจารย์สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษาคณะ ร่วมกับบุคลากร และนักศึกษาได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมในครั้งนี้

และโอกาสนี้ได้ลงพื้นที่ศึกษาและรับฟังสถานการณ์ในพื้นที่การก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นโครงการที่รับผิดชอบโดยกรมชลประทาน ตั้งอยู่พื้นที่ปากแม่น้ำเลย ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำน้ำโขง ทั้งนี้พบว่าในพื้นที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนชนที่เห็นด้วยกับโครงการและกลุ่มที่คัดค้านโครงการ เนื่องมาจากการไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน จากการลงพื้นที่พบว่า ชาวบ้านมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม และไม่ทราบปริมาณการกักเก็บน้ำ เกรงว่าจะสูญเสียที่ดินจากน้ำท่วม

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ คณะได้ทำการศึกษาปัญหาชุมชนและเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการภายใต้นโยบายเสาหลักที่ 3 การสร้างนิติทัศนะรับใช้สังคม (Social Engagement) โดยมุ่งการเปิดพื้นที่การเรียนรู้และปฏิบัติการ (Virtual Field Trip) เชื่อมโยงกับหลักสูตรให้กับนักศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้กฎหมายในห้องเรียนมาเป็นการเรียนรู้จากความเป็นจริงในพื้นที่ในรูปแบบ Problem Base Learning (PBL) ด้วยการสร้างชุมนุมนักกฎหมายและเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อนำไปบูรณาการร่วมกันแก้ไขปัญหาของชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและเป็นจุดสนใจที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาโดยคนในชุมชนต้องมีความรู้ความเข้าใจเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา และในส่วนของภาครัฐเองต้องมีการสื่อสารที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

งานสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

#โรงเรียนสอนกฎหมายที่ผลิตบัณฑิตให้มีนิติทัศนะรับใช้สังคม

ลงพื้นที่เชียงคาน_๑๙๐๙๑๘_0003 ลงพื้นที่เชียงคาน_๑๙๐๙๑๘_0004 ลงพื้นที่เชียงคาน_๑๙๐๙๑๘_0005 ลงพื้นที่เชียงคาน_๑๙๐๙๑๘_0007 ลงพื้นที่เชียงคาน_๑๙๐๙๑๘_0008 ลงพื้นที่เชียงคาน_๑๙๐๙๑๘_0009 ลงพื้นที่เชียงคาน_๑๙๐๙๑๘_0010 ลงพื้นที่เชียงคาน_๑๙๐๙๑๘_0012 ลงพื้นที่เชียงคาน_๑๙๐๙๑๘_0006 ลงพื้นที่เชียงคาน_๑๙๐๙๑๘_0002