คณะนิติฯ ม.ขอนแก่น จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ มุ่งปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเวทีระดมความคิดเห็นครั้งประวัติศาสตร์ “Looking back – Looking ahead ชวนมองกฎหมายไทย ล้าสมัยหรือไร้ที่ติ?” ณ Glowfish ชั้น G อาคารขอนแก่นอินโนเวชั่นเซนเตอร์ รวมพลังนักกฎหมายทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติร่วมเสนอแนวทางแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี

โอกาสนี้ อาจารย์แทนรัฐ คุณเงิน หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้สถาบันกฎหมายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้แทนคณะให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก คุณศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวถึง“บทบาทของสภาทนายความกับการปฏิรูปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” และคุณอุกฤษฏ์ ศรพรหม หัวหน้าฝ่ายนโยบายและกิจการต่างประเทศด้านหลักนิติธรรมและความยุติธรรมทางอาญา ได้กล่าวถึง”การปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในวาระครบ 100 ปี: ที่มาและความสำคัญ กับความยุติธรรมที่มี ประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

ภายในงานยังมีเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ ” Looking back – Looking ahead ชวนมองกฎหมายไทย ล้าสมัยหรือไร้ที่ติ? ตอน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ นำโดย รศ.ดร.นิลุบล เลิศนุวัฒน์ กรรมการศึกษาทบทวนและปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คุณศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และอาจารย์แทนรัฐ คุณเงิน หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้สถาบันกฎหมายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ไฮไลท์สำคัญของงานคือการจัดกิจกรรม World Café แบ่งกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นใน 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ซื้อขาย เช่าซื้อ เช่าทรัพย์, จ้างทำของ, กู้ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ, ประกันภัย, จ้างแรงงาน, หุ้นส่วนบริษัท และครอบครัวและมรดก โดยมีอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ประจำกลุ่มได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีผู้พิพากษา อัยการ นิติกร ทนายความ และนักวิชาการด้านกฎหมายในพื้นที่ภาคอีสานเข้าร่วมและเปลี่ยนความคิดเห็น

อาจารย์นรากร วรรณพงษ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า “การรับฟังความคิดเห็นในระดับภูมิภาคครั้งนี้ จะเป็นฐานสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกฎหมายที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในภาคอีสานได้อย่างตรงจุด ซึ่งคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ได้ร่วมมือกับ TIJ และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ได้เปิดพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาควิชาการและภาคปฏิบัติของผู้ใช้กฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับนักศึกษากฎหมายได้เห็นถึงแนวคิด ปัญหา ข้อขัดข้องต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถสร้างสรรค์และต่อยอดความรู้ คิด วิเคราะห์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสถานการณ์ได้มากขึ้น“

เวทีเสวนาครั้งนี้ไม่เพียงมุ่งรวบรวมความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคมยุคดิจิทัล โดยยึดหลักการสร้างความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-Centered Justice) ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

ผู้สนใจสามารถติดตามผลการระดมความคิดเห็นและความคืบหน้าในการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ผ่านช่องทางของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)