คณะนิติศาสตร์ ลงพื้นที่บริการวิชาการสู่สังคม จัดหลักสูตรอบรมกฎหมายสำหรับนักกฎหมายชุมชน

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมหลักสูตรอบรมกฎหมายสำหรับนักกฎหมายชุมชน ภายใต้โครงการบริการวิชาการแบบบูรณาการสู่ชุมชนเพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) : กรณีการจัดการป่าชุมชนบ้านเมืองไพร อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ณ ศาลาประชาคมบ้านดงแสนสุข ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการตามยุทธศาสตร์ของคณะด้านการบริหารเครือข่ายวิชาการเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์การเรียนรู้และนวัตกรรม กลยุทธ์ด้านการบริการวิชาการเพื่อสังคม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และยุทธศาสตร์การสร้างและส่งเสริมนิติทัศนะและความรับผิดชอบต่อสังคม และยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านการบริการวิชาการเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม (Societal Contributions) ในกลยุทธ์การสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนและสังคม และการร่วมมือเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนและสังคม

ในการจัดหลักสูตรอบรมกฎหมายฯ ได้รับเกียรติจากนายสุริยนต์ ดอนสมจิตร นายอำเภอบ้านดุง มาเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 100 คน โดยหลักสูตรการอบรมกฎหมาย ฯ ประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้ “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุ่มน้ำ” โดยอาจารย์อัษฎาวุธ วสนาท และการบรรยายให้ความรู้กฎหมายพื้นฐานสำหรับประชาชน โดย อาจารย์อาภาพรรณ วิเศษ และการให้ความรู้เรื่อง “การมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ และการปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการแสดงละครให้ความรู้ทางกฎหมาย เรื่อง “การปกป้องผลประโยชน์อันพึงมีได้ตามกฎหมาย ” โดยนักศึกษาชุมนุมบรรพนิติศาสตร์การละคร ในช่วงบ่ายมีการคลินิกกฎหมายเพื่อประชาชน โดยอาจารย์และทนายความศิษย์เก่าของคณะนิติศาสตร์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับชุมชน

ทั้งนี้การการขับเคลื่อนงานบริการวิชาการทางสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ คณะได้บริการวิชาการด้านวิจัยเพื่อพัฒนาโมเดลในการจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืน นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำระดับตำบล และการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางกฎหมายให้ชุมชน รวมทั้งประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากับภาครัฐในพื้นที่ ส่งเสริมมีส่วนร่วมของชุมชน การรับรองสิทธิที่ดินทำกินในพื้นที่ตำบลใกล้เคียง นอกจากนี้มีแผนการพัฒนาศักยภาพชุมชนการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในระยะยาวด้วย โดยพบว่าชุมชนได้นำองค์ความรู้ในด้านสิทธิการจัดการทรัพยากรป่าและที่ดิน ไปดำเนินการจัดการพื้นที่ป่าชุมชนร่วมกัน มีการสร้างกฎระเบียบป่าชุมชน และจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนในพื้นที่

กิจกรรมโครงการดังกล่าว ดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมบริการวิชาการสู่สังคม ที่เน้นการบริการวิชาการสร้างคุณค่าร่วมกัน และแก้ไขปัญหาชุมชน รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางกฎหมายให้กับชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมนิติทัศนะ (Legal Mind) และความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับนักศึกษา และให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดและทำโครงการเพื่อให้เกิดความสมดุลของสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนการลดความขัดแย้งในสังคม สนับสนุนส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงาม ตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนที่ 16 ในการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและการสร้างความยุติธรรมในระดับพื้นที