เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมและองค์กรเครือข่าย 35 องค์กร จัดโครงการบริการวิชาการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางกฎหมาย ภูมิปัญญาท้องถิ่น นิติประเพณี และความรับผิดชอบต่อสังคม : บ้านพองหนีบ อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นโครงการตามยุทธศาสตร์ของคณะด้านการบริหารเครือข่ายวิชาการเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์การเรียนรู้และนวัตกรรม และยุทธศาสตร์การสร้างและส่งเสริมนิติทัศนะและความรับผิดชอบต่อสังคม และยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้านการบริการวิชาการเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม (Societal Contributions) ในกลยุทธ์การสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนและสังคม และการร่วมมือเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนและสังคม โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นมีเวทีเสวนาการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่ และการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว
โดยมีวิทยากรร่วมเวทีเสวนาดังนี้
- นางสาวศยามล ไกรยูรวงค์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- นายศุภฤกษ์ น้อยสุวรรณ นายอำเภอภูกระดึง
- นายอดิศร เหมทานนท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
- นายครรชิต พันสนิท นายก อบต.ศรีฐาน
- นายตาล วรรณกูล ผู้ประสานศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก
- นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี
- นายบรรจง นะแส นักพัฒนาอาวุโส
- นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ รองประธานมูลนิธินานาชาติ
- นายธีระ สิงห์บุรินทร์ ประธานคณะทำงานสภาองค์กรชุมชน
- นางสาววลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาอาวุโส TPBS เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยเวทีการเสวนาได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลากหลายมุมมองเพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมระดมทุนจัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยจัดวิ่งการกุศล การจัดดนตรี และผ้าป่าชุมชน มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวนกว่า 200 คนทั้งภาครัฐในพื้นที่ ชุมชน นักศึกษา และองค์กรเครือข่าย
ทั้งนี้การการขับเคลื่อนงานบริการวิชาการทางสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทำให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากช้างป่า และประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากับภาครัฐในพื้นที่ การมีส่วนร่วมของชุมชนการรับรองสิทธิที่ดินทำกิน การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การแก้ไขระเบียบท้องถิ่น และการให้ชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับจังหวัด โดยได้มีการทำงานร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการรายงานปัญหาพื้นที่และดำเนินงานแก้ไขปัญหาช้างป่าและมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังพัฒนาศักยภาพชุมชนการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและกระจายรายได้ให้กับชุมชนร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่
กิจกรรมโครงการดังกล่าว ดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมบริการวิชาการสู่สังคม ที่เน้นการบริการวิชาการสร้างคุณค่าร่วมกัน และแก้ไขปัญหาชุมชน รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางกฎหมายให้กับชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมนิติทัศนะ (Legal Mind) และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเปิดพื้นที่เรียนรู้และปฏิบัติการเชื่อมโยงระหว่างคณะกับนักศึกษา และชุมชน ให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างชุมชน นักกฎหมายและเครือข่ายภาคประชาสังคม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) และสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน การถ่ายทอดและทำโครงการเพื่อให้เกิดความสมดุลของสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการลดความขัดแย้งในสังคม สนับสนุนส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงาน ตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนที่ ๑๖ ในการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและการสร้างความยุติธรรมในระดับพื้นที่



















