
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์วิจัยทางกฎหมายและการบริการวิชาการ ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติในหัวข้อ “การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยใน ASEAN เพื่อเสริมสร้างความสุจริตทางวิชาการ” (The Next Chapter: Strengthening Academic Integrity in ASEAN – SAIA) ระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2568 ณ โรงแรม Park Plaza กรุงเทพฯ
การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาความสุจริตทางวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น” โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสุจริตทางวิชาการซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาในยุคเทคโนโลยี AI มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งเป้าหมายสู่การเป็น AI Literate University ผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. AI Proficiency and Literacy: การใช้งาน AI อย่างมีจรรยาบรรณ 2. AI Culture: การนำ AI มาสนับสนุนประสิทธิภาพและนวัตกรรม 3. AI Ethics and Responsibility: มหาวิทยาลัยได้เริ่มวางแนวทางและนโยบายในการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ
และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาครั้งนี้ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึง ความสำคัญของการวิจัย และ ความร่วมมือ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาในอาเซียน โดยระบุว่าการวิจัยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาและการเสริมสร้างความสุจริตทางวิชาการ เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงและยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ
อาจารย์กัญญารัตน์ โคตรภูเขียว อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานคณะทำงานศูนย์วิจัยทางกฎหมายและการบริการวิชาการ กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า “คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งมั่นที่จะยกระดับการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในอาเซียนเพื่อส่งเสริมความสุจริตทางวิชาการ ขยายการใช้งานระบบ AIRS ไปยังมหาวิทยาลัยในภูมิภาค พัฒนามาตรฐานความสุจริตทางวิชาการให้สอดคล้องกับระดับสากล และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในภูมิภาค”
การสัมมนาครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก H.E. Mr. Jonathan Kings เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ได้ร่วมปาฐกถา พิเศษเกี่ยวกับ ความสำคัญของความสุจริตทางวิชาการ โดยเน้นใน 3 มิติสำคัญ ได้แก่ 1) บริบททางสังคม 2) ความสัมพันธ์ต่อฝ่ายนโยบายและนิติบัญญัติ 3) ความเชื่อมโยงกับการทูต
ในช่วงท้าย รศ.ดร. สถาพร เริงธรรม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมอภิปรายกับตัวแทนเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งผลักดันแนวคิด “The Next Chapter: Strengthening Academic Integrity in ASEAN” ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาความสุจริตทางวิชาการ และยกระดับคุณภาพการศึกษาของภูมิภาคให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเครื่อข่ายความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสุจริตทางวิชาการ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เน้นความสุจริตและจริยธรรม เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและยกระดับการศึกษาในภูมิภาคให้ยั่งยืน