Archives กันยายน 2017

อบรมเสริมหลักสูตร “การสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างสร้างสรรค์”

คณะนิติศาสตร์ มข. ร่วมกับ โรงเรียนพัฒนาผู้นำและสร้างสันติธรรม รักสคูล จัดอบรมเสริมทักษะให้นักศึกษาชั้นปี 3 หลักสูตร “การสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างสร้างสรรค์”  มุ่งให้นักศึกษาเข้าใจและเชื่อโยงแนวคิดจำเป็นสำหรับแต่ละขั้นตอนของกระบวนการการสืบทอดธุกิจครอบครัวได้อย่างถูกต้อง

วันที่ 25 กันยายน 2560 คณะนิติศาสตร์ได้ดำเนินการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การสืบทอดธูรกิจครอบครัวอย่างสร้างสรรค์” สำหรับนักศึกษาชั้นปี 3 โดยร่วมกับ โรงเรียนพัฒนาผู้นำและสร้างสันติธรรม รักสคูล เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานและเชื่อมโยงแนวคิดที่จำเป็นสำหรับแต่ละขั้นตอนกระบวนการของการสืบทอดธูรกิจครอบครัวได้อย่างถูกต้อง รวมถึงได้เข้าใจถึงกระบวนการรู้จักการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ไม่ใช่การเอาแพ้เอาชนะกันภายในครอบครัวของตนเอง โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวต้อนรับคณะวิทยากรและเปิดโครงการในวันนี้ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้บริหารโรงเรียนรักสคูล ดร.ศักดา วัตตธรรม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 อาจารย์นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจครอบครัว และอาจารย์สุจินันท์ หรสิทธิ์ รองผู้บริหารโรงเรียนรักสคูล

โดยการอบรมในครั้งนี้ได้แบ่งนักศึกษาออกเป็น 3 รุ่น ประกอบด้วย

รุ่นที่ 1 อบรมในวันที่ 25-26 กันยายน 2560

รุ่นที่ 2 อบรมในวันที่ 27-28 กันยายน 2560

รุ่นที่ 3 อบรมวันที่ 29-30 กันยายน 2560

โดยใช้สถานที่ ณ ห้องบรรยาย 4 คณะนิติศาสตร์ โดยในแต่ละวันจะมีการบรรยาย กิจกรรมระดมสมอง วิเคราะห์กรณีศึกษา รวมถึงการฝึกภาคปฏิบัติเพื่อให้นักศึกษาได้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงและนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป

DSC_6756 DSC_6762 DSC_6773 DSC_6781 DSC_6783 DSC_6799 DSC_6818 DSC_6832 DSC_6836 DSC_6858 DSC_6860 DSC_6921 DSC_6922 DSC_6931

ภาพ : พิเชษฐ์ อินทร์นอก

ข่าว : พชร โนนทิง

คณะนิติศาสตร์รับสมัครนักศึกษาเข้ารับทุนอุดหนุนการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐

170925 ทุนอุดหนุนคณะ 2560

การรับสมัครนักศึกษาเพื่อคัดเลือกนักศึกษาเข้ารับทุนอุดหนุนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐

คุณสมบัติ

๑. เป็นนักศึกษาที่มีความจำเป็นด้านทุนทรัพย์ทางการศึกษา

๒. เป็นนักศึกษาที่มีความตั้งใจ อุตสาหะและมุ่งมั่นในการศึกษาเป็นอย่างดี

เงื่อนไขและข้อผูกพันของผู้รับทุนอุดหนุน

๑. จะต้องรายงานตัวเพื่อรับทุนอุดหนุนตามที่กำหนด

๒. จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่คณะกำหนด

๓. จะต้องทำงานเพื่อฝึกประสบการณ์ตามเงื่อนไขและวิธีที่คณะกำหนด

รับสมัครระหว่างวันที่ ๒๗ กันยายน – ๖ ตุลาคม ๒๕๖๐

ติดต่อขอรับใบสมัครได้ที่งานพัฒนานักศึกษา หรือดาวโหลดที่ ใบสมัครทุนอุดหนุนการศึกษา-คณะนิติศาสตร์

 

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สัมภาษณ์ทุนการศึกษาประเภท ข ภาคต้น ปีการศึกษา ๒๕๖๐

รายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าสัมภาษณ์ทุนการศึกษาประเภท ข ภาคต้น ปีการศึกษา ๒๕๖๐

กำหนดสัมภาษณ์วันที่ ๒๕ – ๒๖ กันยายน ๒๕๖๐ ตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ น. เป็นต้นไป ณ ห้องปฏิบัติการทางกฎหมาย ๑ สำนักงานคณบดี

ทั้งนี้ ขอให้ผู้เข้าสัมภาษณ์ มาก่อนเวลา ๑๕ นาที

170920 รายชื่อผู้มีสิทธิ์สัมภาษณ์ทุนประเภท ข ภาคต้น ปี 2560

*** หากไม่สามารถเข้าสัมภาษณ์ได้ ให้ติดต่อ พี่อนุชิต   ปัสสาสุ (พี่ตั้ม) ๐๙ ๕๖๕๓ ๔๐๓๕ 

นักกฎหมายคลื่นลูกใหม่ต้องเข้าใจ “สิทธิ หน้าที่และความเสมอภาค”

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมสรุปการลงพื้นที่เรียนรู้สังคมรายวิชาการกฎหมายกับสังคม พร้อมมอบธงรุ่นต้อนรับนักศึกษากฎหมายคลื่นลูกใหม่ต้องเข้าใจสิทธิ หน้าที่ และความเสมอภาค

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 เวลา 17.00 น. คณะนิติศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมสรุปการลงพื้นที่เรียนรู้สังคมตามโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษากฎหมายชั้นปี 1 ปีการศึกษา 2560 และพิธีมอบธงรุ่นที่ 14 โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นประธานในพิธี ภายในพิธีได้มีการบายศรีสู่ขวัญ และการผูกข้อมือต้อนรับนักศึกษาใหม่  คณาจารย์และรุ่นพี่นักศึกษาเข้าร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติบดี ใยพูล ได้กล่าวต้อนรับนักศึกษา ความว่า “ขอต้อนรับนักศึกษารุ่นที่ 14 ของคณะนิติศาสตร์ ในรุ่นที่ 14 นี้นะครับมีอะไรใหม่ๆ ที่ต้องฟันฝ่าท้าท้าย นอกจากการที่เรามาเป็นนักศึกษาใหม่ และใช้หลักสูตรใหม่ปี 2560 และหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตยังได้รับเกียรติเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ต้องปฏิรูปการศึกษานิติศาสตร์ เราจะก้าวเข้าสู่ประเทศไทยยุค 4.0 สิ่งที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าได้คือการปฏิรูปกฎหมายและที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูปคนในระบบกฎหมายหรือนักกฎหมาย สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.จะทำอย่างไรให้เราจบออกไปในอนาคตเป็นนักกฎหมายที่มีทักษะทางวิชาการอย่างแหลมคม รู้กฎหมายอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่รู้เฉพาะความจำ ต้องรู้ในเชิงของการวิเคราะห์ให้ได้ 2.นิติทัศนะของนักกฎหมาย ต้องฝึกนักกฎหมายให้รู้จักที่จะให้ โดยในรายวิชากฎหมายกับสังคมนี้ต้องการให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องของ สิทธิ หน้าที่ และความเสมอภาค เวลาพูดถึงกฎหมายในฐานะที่เราเป็นนักกฎหมาย 3 คำนี้จะประกอบอยู่ในคำว่ากฎหมายอัตโนมัติ โดยให้เรียนรู้ผ่านการลงพื้นที่และการทำกิจกรรม กฎหมายแท้ที่จริงมันไม่ใช่แค่ตัวบท กฎหมายมันคือความจริงของสังคม ที่นักศึกษาได้ไปเรียนรู้สังคม ได้เห็นสังคมที่มีความสุข และเราในฐานะนักกฎหมายจะสร้างความสุขให้กับสังคมได้ ถ้าเราไปพิทักษ์สิทธิของเขาในอนาคต เรามีหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิ วิชากฎหมายกับสังคมนี้ได้สอนว่านักนิติศาสตร์ต่อไปเราต้องมีนิติทัศนะรับใช้สังคม มีนิติทัศนะที่จะให้ทุกคนทุกภาคส่วนมีความสุข  3.ทักษะของคนรุ่นใหม่ เราจะสามารถนำเอาสิ่งที่มีศักยภาพในตัวของเราออกมาในการเรียนนิติศาสตร์ของเราได้อย่างไร เช่น ด้านภาษา การเป็นผู้นำ การกล้าแสดงออก การนำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ โดยนำเอาสิ่งมาเหล่ามาเชื่อมเข้ากับสังคมให้ได้ด้วย”

ในส่วนของอาจารย์พิทักษ์ ไทยเจริญ อาจารย์ผู้สอนประจำวิชานี้ได้กล่าวว่า “วิชากฎหมายกับสังคมเป็น การจัดการเรียนการสอนแบบ Interactive Learning ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการสื่อสารระหว่างกันและมีการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนักศึกษา และระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง โดยถือเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควรว่า จะทำอย่างไรให้นักศึกษาของเราเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายกับสังคมให้ได้ ดังนั้น เราจึงเริ่มต้นจากการสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ตนเอง ตามมาด้วยเรียนรู้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันและการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียนผ่านกิจกรรมตามโจทย์ที่อาจารย์ผู้สอนได้กำหนดขึ้น นอกจากนั้น เรายังพานักศึกษาก้าวข้ามไปเรียนรู้สังคมอื่น ๆ นอกมหาวิทยาลัย และนี่เองคือที่มาว่าทำไมนักศึกษาจึงต้องออกไปเรียนรู้ใน 6 พื้นที่ที่แตกต่างกัน เพราะเราเชื่อว่า เมื่อนักศึกษาได้เจอกับสภาพความเป็นจริง และวิถีชีวิตจริง ก็จะทำให้นักศึกษานั้นเกิดการเรียนรู้ และเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายกับสังคมได้เองในตัว และที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อปลูกฝังให้นักศึกษาเราเติบโตไปเป็นบัณฑิตที่มีนิติทัศนะรับใช้สังคมต่อไป”

และ นางสาวศิริลักษณ์ ไกรพินิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้กล่าวความรู้สึกสำหรับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชานี้ว่า “เป็นการจัดการเรียนการสอนที่สนุก ไม่น่าเบื่อ ให้นักศึกษาได้คิดและแสดงออกทางความคิดได้อย่างเต็มที่ และมีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสามัคคีระหว่างเพื่อน รวมถึงการลงพื้นที่ไปเรียนรู้สังคมภายนอก ในส่วนของหนูได้มีโอกาสไปที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุ้มศุขโข อ.ชนบท จ.ขอนแก่นรู้สึกชื่นชมในภูมิปัญญาของชุนชนที่นี่ที่ได้มีการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาของตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เด็ก เยาวชนในหมู่บ้านก็มีความภาคภูมิใจ รักและห่วงแหน และจะสืบทอดทั้งด้านการทำผ้าไหม การรำบายศรี ได้ทราบประวัติความเป็นมาของสิ่งเหล่านี้และก่อให้เกิดความเข้าใจมากกว่าการอ่านหนังสือในห้องอีกด้วยค่ะ”

โดยการจัดการศึกษาในรายวิชานี้รายวิชาดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เช่น ทักษะการเตรียมความพร้อมในการศึกษากฎหมายและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนิติทัศนะรับใช้สังคมพร้อมทั้งส่งเสริมให้นักศึกษามีคุณธรรมและจริยธรรม อีกทั้งยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้กฎหมายกับสังคม ตลอดจนมีการพัฒนาทักษะทางด้านวิชาการควบคู่กันไปอีกด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับทักษะการเตรียมความพร้อมในการศึกษากฎหมายและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนิติทัศนะรับใช้สังคมนั้น ในรายวิชาได้กำหนดให้มีกิจกรรมพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษากฎหมาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ตนเอง เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสังคมในชั้นเรียน และก้าวข้ามไปสู่การเรียนรู้สังคมอื่น ๆ ภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการศึกษากฎหมายต่อไป

DSC_5623 DSC_5642 DSC_5644 DSC_5645 DSC_5650 DSC_5651 DSC_5696 DSC_5703 DSC_5714 DSC_5725 DSC_5732 DSC_5752 DSC_5757 DSC_5758 DSC_5762 DSC_5767 DSC_5768 DSC_5770 DSC_5775 DSC_5787

ภาพ/ข่าว : พชร โนนทิง

กำหนดการขอผ่อนผันทหาร ประจำปี 2560

ประชาสัมพันธ์นักศึกษา

กำหนดการผ่อนผันทหาร ประจำปี 2560

  • ลงทะเบียนออนไลน์ที่ http://goo.gl/n6oS2y ภายในวันที่ 10 กันยายน 2560
  • ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์ยื่นเอกสาร วันที่ 12 กันยายน 2560 ที่เว็บไชต์ กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ยื่นเอกสาร ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2560

 

>>>อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม<<<

ขอเชิญเสนอชื่อนักศึกษารางวัลเชิดชูเกียรติ ปีการศึกษา 2560

ขอเชิญเสนอชื่อนักศึกษาเพื่อรับ “รางวัลศรีกัลปพฤกษ์” และ “รางวัลกัลปพฤกษ์” ประจำปีการศึกษา 2560

การเรียนรู้จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ความเป็นมา กับวิวัฒนาการทางกฎหมาย ( The good old law)

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ลงพื้นที่เรียนรู้ประวัติความเป็นมาเมืองขอนแก่นเชื่อมโยงวิวัฒนาการทางกฎหมาย ( The good old law) และทำกิจกรรมปรับภูมิทัศน์บริเวณรอบบึงแก่นนคร เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะและบริการสังคม ตามโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษาชั้นปี 1 รายวิชากฎหมายกับสังคม

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ นำนักศึกษารายวิชากฎหมายกับสังคมลงพื้นที่ครั้งที่ 2 บริเวณศาลเทพารักษ์หลักเมืองขอนแก่น บึงแก่นนคร และโฮงมูนมังเมืองขอนแก่น โดย อาจารย์ปริศนา คำชาย ได้นำนักศึกษาลงพื้นที่เพื่อสักการะศาลหลักเมืองและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัดขอนแก่น เสริมสร้างความเข้าใจให้นักศึกษาที่มาอยู่ในสังคมต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมา

ในเวลา 07.30 น. นักศึกษาได้ไปยังศาลเทพารักษ์หลักเมืองขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจากนายชัชวาล พรอมรธรรม รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้บรรยายถึงประวัติความเป็นมาของศาลหลักเมืองขอนแก่น ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมาพร้อมทั้งการบริหารจัดการในส่วนต่าง ๆ ที่ทางเทศบาลนครขอนแก่นได้กำกับดูแลพื้นที่บริเวณศาลหลักเมืองแห่งนี้ พร้อมทั้งนำนักศึกษากราบไหว้สัการะขอพร “ศาลเทพารักษ์หลักเมือง” มีการสร้างที่รวมเอาวัฒนธรรมจีนและไทยรวมกัน โดยคนจีนเรียกว่า “ศาลหลักเมืองกง” ส่วนคนไทยเรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” แต่เดิมนั้นอยู่ที่อำเภอชุมแพ แต่ได้อัญเชิญมาประดิษฐานและสร้างใหม่ ณ ศาลเทพารักษ์หลักเมืองในปัจจุบัน ศาลเทพารักษ์หลักเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเมืองที่มักจะมาสักการะที่ศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นประจำ บรรยากาศภายในศาลหลักเมืองมีความร่มรื่น และสะอาดตา การออกแบบสถาปัตยกรรมศาลหลักเมืองขอนแก่น ตัวอาคารจะตั้งอยู่ ณ บริเวณจุดเดิม ลักษณะตัวอาคารมีศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ทรวดทรวงและส่วนประกอบงานศิลป์เป็นการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของท้องถิ่นอีสาน ขนาดและรูปทรงเป็นเป็นอาคารโถงจัตุรมุข กว้างขวางโอ่โถงกว่าของเดิมมากผสมผสานกับการสร้างเสาฟ้าดิน ซึ่งเปรียบเสมือนสถานที่รับราชโองการจากสวรรค์มายังโลกมนุษย์ของเง็กเซียนฮ่องเต้ เพื่อประธานโชคลาภให้ผู้คนที่มากราบไหว้

ต่อมาในเวลา 09.00 น. ได้นำนักศึกษาลงพื้นที่บริเวณบึงแก่นนคร เพื่อทำจิตอาสาปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเพืื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม บึงแก่นนครมีลักษณะเป็นบึงขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 603 ไร่ ตั้งอยู่กลางเมืองขอนแก่น เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองขอนแก่นและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชนเมือง มีการปลูกต้นคูณ และไม้ดัดไว้อีกมากมาย ทำให้ดูร่มรื่นสวยงาม นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่น และร้านอาหารบริการผู้มาพักผ่อน ส่วนทางทิศเหนือ ของบึงแก่นนครเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ “เจ้าเพียเมืองแพน” ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่น ในการทำกิจกรรมนอกจากนักศึกษาได้บริการจิตสาธารณะแล้วยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่นผ่านจุดต่าง ๆ ที่สำคัญในบริเวณบึงแก่นนครอีกด้วย

หลังจากนั้นเวลา 11.00 น. นักศึกษาได้เข้าชม โฮงมูลมังเมืองขอนแก่น คำว่า โฮง คือหอเก็บสมบัติ โฮงมูนเมืองขอนแก่น คือ หอเก็บสมบัติที่เก็บรวบรวมเรื่องราวอันเป็นที่มาของเมืองขอนแก่น ตั้งอยู่บริเวณบึงแก่นนคร อ.เมือง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตและเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น นิทรรศการในโฮงมูนมัง เป็นการนำเสนอด้วยแบบจำลองผสานสื่ออันทันสมัย ทั้งสไลด์ วิดีทัศน์ สื่อมัลติมีเดีย บอร์ดกราฟฟิก หุ่นจำลอง และภาพประกอบ คำบรรยาย โดยแบ่งออกเป็น 5 โซน คือโซนที่ 1  แนะนำเมืองขอนแก่น โซนที่ 2  ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่นและวัฒนธรรมชาวขอนแก่น โซนที่ 3  การตั้งเมือง โซนที่ 4  บ้านเมืองและวิถีชีวิตของชาวขอนแก่น และโซนที่ 5  ขอนแก่นวันนี้

ในการลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้สังคมในครั้งที่ 2 ของนักศึกษาในครั้งนี้ขอขอบคุณเทศบาลนครขอนแก่นที่ได้ให้ความอนุเคราะห์อำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากทำกิจกรรมสาธารณะและบริการสังคมแล้วนักศึกษายังได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมา วัฒนธรรม จารีตท้องถิ่นอันเป็นกฎ กติกาในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมนั้น ๆ ก่อนที่จะมีกฎหมายอันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นกฎ ระเบียบในการควบคุมสังคม

IMG_1417IMG_1485DSC_4617DSC_4594IMG_1625 DSC_4627 IMG_1638IMG_1685IMG_1681DSC_4651 DSC_4662 DSC_4670 DSC_4696 DSC_4708 DSC_4714 DSC_4718 DSC_4720 DSC_4722 DSC_4726

ภาพ/ข่าว : พชร โนนทิง

คณะนิติศาสตร์ มข. จัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย

“คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนางานวิชาการและวิจัยสู่มาตรฐานสากล”

ตามที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ นายกสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ประชุมหารือกันเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเป็นหุ้นส่วนทางวิชาการและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ โดยมุ่งพัฒนางานวิชาการและงานวิจัยในการสนับสนุนนโยบายของประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 และแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์ของทั้งสองหน่วยงาน  มุ่งสัมฤทธิผลในการพัฒนาคุณภาพการผลิตบัณฑิตที่มีทั้งทักษะด้านความรู้และทักษะด้านการปฏิบัติพร้อมสำหรับการทำงานในระดับนานาชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยคุณภาพเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจโลก

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย จึงได้ตกลงจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองหน่วยงานขึ้น ในวันที่ 4 กันยายน 2560  เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม อาคาร วช. 2 ชั้น 2 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร โดยมีสาระสำคัญคือ

(1) การเป็นหุ้นส่วนทางวิชาการอย่างเป็นทางการ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

(2) การแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

(3) การดำเนินงานทางวิชาการที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน

  1. การจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง Conference on Law and Social Enterprise กำหนดการ เดือนตุลาคม/พฤศจิกายน 2560 จังหวัดขอนแก่น
  1. ชุดโครงงานวิจัย เรื่อง Business Ethic Code in The Asean Economic Community : Concerning for Investor on High standards of Ethics, Human Rights and Environmental Protection

ระยะเวลา 6 เดือน (เดือนพฤศจิกายน 2560-เดือนเมษายน 2561)

  1. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำหลักสูตรร่วมผลิต เช่น ศศบ. สาขากฎหมายเศรษฐกิจและการลงทุนอาเซียน เป็นต้น หรือการเพิ่มสาขากฎหมายเศรษฐกิจและการลงทุนอาเซียนในโครงสร้างหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต
  1. การจัดทำหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับกฎหมายและการบริหารธุรกิจในยุคใหม่ กำหนดการปีงบประมาณ 2561

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15

ภาพ/ข่าว : งานเลขานุการ

 

เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบยั่งยืนผ่านเส้นทางผ้าไหม ที่กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จ.ขอนแก่น

นักศึกษารายวิชากฎหมายกับสังคม ลงพื้นที่เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชุมชน ณ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข บ้านดอนข่า อ.ชนบท จ.ขอนแก่น

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำนักศึกษาลงพื้นที่เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชุมชน ในเรื่องการทอผ้าไหม ณ กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข บ้านดอนข่า อ.ชนบท จ.ขอนแก่น นำโดยอาจารย์อัษฎาวุทธ วสนาท และอาจารย์ปริศนา คำชาย ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายทวี สุขโข เป็นวิทยากรนำนักศึกษาและแนะนำความเป็นมา วิธีการการทำผ้าไหม รวมถึงการทำกิจกรรม work shop ทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ

ในศูนย์หัตกรรมคุ้มสุขโขแห่งนี้มีการทอผ้าไหมมัดหมี่ โดยใช้เส้นไหมออร์แกนิก ซึ่งในแต่ขั้นตอนการผลิตไม่มีการใช้สารเคมีเข้ามาเป็นส่วนประกอบตั้งแต่การปลูกหม่อนโดยใช้ปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากการย้อมเส้นไหมแบบย้อมเย็น ซึ่งเป็นการย้อมที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงและสีที่นำมาย้อมก็นำมาจากวัสดุธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบลายผ้าไหม โดยมีการรวมลาย 9 ลาย แล้วตั้งชื่อว่า ผ้าไหมมัดหมี่เฉลิมพระเกียรติลายนพเก้า ถือเป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาวของที่นี่

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษากฎหมายได้เรียนรู้และเข้าใจในบทบาทของนักกฎหมายกับการเรียนรู้ในวิถีชุมชนที่มีความเป็นมา การสืบสานอนุรัษ์มรดกทางวัฒนธรรมและเป็นต้นทุนทางสังคมที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากรุ่นสู่รุ่น โดย นางสาวศิริลักษณ์ ไกรพินิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้กล่าวความรู้สึกที่ได้เข้าร่มในกิจกรรมครั้งนี้ว่า “รู้สึกชื่นชมในภูมิปัญญาของชุนชนที่นี่ที่ได้มีการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาของตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เด็ก เยาวชนในหมู่บ้านก็มีความภาคภูมิใจ รักและห่วงแหน และจะสืบทอดทั้งด้านการทำผ้าไหม การรำบายศรี ด้วยค่ะ”

สำหรับกิจกรรมในรายวิชากฎหมายและสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับทักษะการเตรียมความพร้อมในการศึกษากฎหมายและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนิติทัศนะรับใช้สังคมนั้น ในรายวิชาได้กำหนดให้มีกิจกรรมพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษากฎหมายมีการแบ่งกลุ่มเพื่อลงพื้นที่เรียนรู้อาทิ การเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม หมูบ้านผ้าไหม การเรียนรู้การเป็นจิตอาสา เรียนรู้กับผู้ด้อยโอกาส เรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกรอีสานเป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ตนเอง เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสังคมในชั้นเรียน และก้าวข้ามไปสู่การเรียนรู้สังคมอื่น ๆ ภายนอกมหาวิทยาลัยต่อไป

DSC_4133 DSC_4136 DSC_4166 DSC_4175 DSC_4189 DSC_4204 DSC_4216 DSC_4236 DSC_4251 DSC_4261 DSC_4265 DSC_4298 DSC_4313 DSC_4316 DSC_4318 DSC_4336 DSC_4351 DSC_4353 DSC_4374 DSC_4403 DSC_4418 DSC_4420 DSC_4428 DSC_4434 DSC_4438 DSC_4447 DSC_4453 DSC_4458 DSC_4476 DSC_4508 DSC_4534 DSC_4544 DSC_4554 IMG_0897 IMG_0899 IMG_0909 IMG_1080 IMG_1098 IMG_1106 IMG_1116 IMG_1144 IMG_1155 IMG_1220 IMG_1389DSC_4518DSC_4519

ภาพ : ทีมประชาสัมพันธ์คณะนิติศาสตร์

ข่าว : พชร โนนทิง